ข้อควรระวังในการเลือกใช้ไม้เทียม


ข้อควรระวังในการเลือกใช้ไม้เทียม

ปัจจุบันความต้องการในการใช้ “ไม้” มีมากขึ้น ในทางกลับกัน “ไม้” มีไม่พอใช้ จึงเกิดปัญหาตามมาคือ ราคาของไม้ค่อนข้างสูงและมีคุณภาพค่อนข้างไม่ดี เนื่องจากเป็นไม้ใหม่ที่มีอายุไม่มาก หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นไม้ชนิดโตเร็ว ทำให้มีปัญหาหดตัวสูง และไม่ทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา ทำให้มีการผลิตวัสดุเพื่อทดแทนไม้ ซึ่งเรียกกันว่า “ไม้เทียม”

ไม้เทียมหากแยกตามวัสดุที่ใช้ผลิต สามารถแบ่งออกเป็นได้หลักๆ 2 ชนิด คือ

  1. ไฟเบอร์ซีเมนต์ ผลิตจากการนำไฟเบอร์ธรรมชาติมาผสมกับซีเมนต์ ทำให้เกิดวัสดุที่มีลักษณะคล้ายกับไม้
  2. Wood Plastic ผลิตขึ้นจากกระบวนการนำผงไม้และเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ มาผ่านขบวนการผลิต ขึ้นรูปโดยการฉีด หรือรีดเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ และสามารถใช้งานได้จริง

ข้อดีของไม้เทียม คือ

  1. ปลวก/แมลงไม่กิน และไม่ลามไฟ
  2. ทนต่อสภาพอากาศ เช่น แช่น้ำ ทนแดด ฝน ลม และไอทะเล เหมาะกับสภาพอากาศในบ้านเรา
  3. สามารถเลื่อย ตัด เจาะ ขูดเสี้ยน ได้ง่ายเหมือนไม้ธรรมชาติ
  4. ราคาใกล้กับไม้จริง
  5. ไม่ต้องทาสี ผสมสีในตัว
  6. ไม่อุ้มน้ำ

จากคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ความนิยมในการใช้ไม้เทียมมีมากขึ้น โดยเริ่มจากการนำมาใช้เป็น ไม้ปูพื้น ตงไม้ระแนง รั้ว ฝ้า ผนัง ซึ่งใช้ได้ทั้งเป็นวัสดุหลัก และตบแต่ง ซึ่งปกติผู้ผลิตมักจะมีการระบุหรือกำหนดวิธีการใช้วัสดุดังกล่าว ซึ่งมักจะมีความสามารถในการรับแรงน้อยกว่าไม้จริง ซึ่งมีผู้นำไปใช้เป็นไม้ในส่วนระเบียงบ้าน โดยวางไม้พื้นบนตงที่มีระยะ 0.50 มม. ซึ่งเป็นระยะปกติสำหรับวางพื้นไม้ และระยะตง จะต้องไม่เกิน 35 ซม. เพื่อป้องกันการเลื้อยของไม้ เมื่อโดนความร้อนมากๆ

สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ไม้เทียมแทนไม้จริง

  1. ตรวจสอบข้อกำหนดของไม้แต่ละยี่ห้อ, ข้อแนะนำการใช้งานของไม้เทียม โดยเฉพาะความสามารถในการรับน้ำหนัก, ระยะพาดของตง และข้อกำหนดในการติดตั้งควรกำหนดในแบบให้ชัดเจน ตลอดจนกำชับผู้รับเหมาให้เข้าใจตรงกัน
  2. หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้ไม้พื้นดังกล่าวในที่สูง เพื่อป้องกันอันตรายจากปัญหาพื้นหักแตกออกมา ควรเตรียมการเสริมตะแกรงเหล็กด้านล่างพื้น เพื่อป้องกันการตกจากที่สูง
  3. ไม้เทียมบางชนิด ที่แตกง่าย ไม่ควรนำไม้เทียมมาใช้เป็นราวกันตก หรือราวระเบียง เนื่องจากหากมีการพิงหรือนั่งบนราว อาจจะแตกพังลงมาได้
  4. หากต้องการใช้ไม้เทียม ควรนำมาใช้ในพื้นที่ระดับไม่สูงจากพื้นมากนัก เช่น พื้นทางเดินรอบบ้าน พื้นศาลาที่มีโครงสร้างพื้นรับอยู่ด้านล่าง